จอห์น เบาว์ริง-การค้าเสรี (ระเบียบใหม่ของโลกเก่า)

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
กัณฐิกา ศรีอุดม

คงเกือบไม่มีอาจารย์ หรือนักเรียนนักศึกษาไทยคนใด ที่ไม่เคยได้ยินชื่อหรือไม่รู้จักนามของ “เซอร์ จอห์น เบาว์ริง” เจ้าตำรับของ “สนธิสัญญาเบาว์ริง” ที่ทำให้ไทยสมัยพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาล ที่ 4 ต้อง “เสียอำนาจอธิปไตยทางการศาล” และปรากฏมี “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต” เกิดขึ้น แต่ก็ ทำให้สยามรอดจากการตกเป็น “อาณานิคม” (โดยตรงสมบูรณ์แบบ) ไปได้ และหากจะสนใจมากไปกว่านี้ ก็คง ทราบว่าสนธิสัญญาดังกล่าว ทำให้เกิด “การค้าเสรี” ถือเป็นการสิ้นสุดของ “การผูกขาดการค้าต่าง ประเทศ” โดย “พระคลังสินค้า” ของกษัตริย์และเจ้านายสยาม ฯลฯ

แต่ก็คงมีน้อยคนที่จะทราบว่าเซอร์จอห์น เบาว์ริง เป็นมนุษย์มหัศจรรย์ของยุคสมัยจักรวรรดินิยมล่าอาณานิคม ที่เป็นทั้งเจ้าเมืองฮ่องกง (ถึง 9 ปีระหว่าง ค.ศ. 1848-57) เป็นพ่อค้า เป็นนักการทูต เป็นนักเศรษฐศาสตร์การเมือง เป็นนักการศาสนา เป็นนัก แต่งเพลงสวด เป็นกวี เป็นนักประพันธ์ เป็นบรรณาธิการ เป็นนักภาษาศาสตร์ (รู้ถึง 10 ภาษาหลักๆ ทั้งหมด ในยุโรป รวมทั้งภาษาจีน) กล่าวกันว่าเบาว์ริงเชื่อมั่นอย่างรุนแรงทั้ง “การค้าเสรี” ทั้ง “พระเยซูเจ้า” ดังนั้นจึงได้กล่าว “คำขวัญ” ไว้ว่า "Jesus Christ is free trade, free trade is Jesus Christ" หรือ “พระเยซู คริสต์คือการค้าเสรี และการค้าเสรีก็คือพระเยซูคริสต์”

ท้ายที่สุดสมัยปลายรัชกาลที่ 4 และต้นรัชกาลที่ 5 ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นอัครราชทูตไทยประจำลอน ดอน และยุโรป ถือได้ว่าเป็น “ตัวแทนประจำคนแรกของไทย” ก็ว่าได้ มีบรรดาศักดิ์เป็น “พระยา สยามมานุกูลกิจ สยามมิตรมหายศ” เบาว์ริงเกิด พ.ศ. 2335 (17 ตุลาคม 1792) ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1 ท่านมี อายุมากกว่าพระจอมเกล้า 12 ปี ท่านสิ้นชีวิต พ.ศ. 2415 (23 พฤศจิกายน 1872) เมื่ออายุ 80 ปี หรือ ภายหลังการสวรรคตของพระจอมเกล้าฯ 4 ปีนั่นเอง

“หนังสือ” สนธิสัญญาเบาว์ริง

สนธิสัญญาเบาว์ริง ว่าด้วย “การค้าเสรี” อันเป็น “ระเบียบใหม่” ของโลกในยุคลัทธิจักรวรรดินิยม อาณานิคมตะวันตก ลงนามกันระหว่างอังกฤษและสยามเมื่อ 18 เมษายน พ.ศ. 2398 (ค.ศ. 1855) ในสมัยรัฐบาล “ประชาธิปไตย” ของพระบาทสมเด็จฯ พระราชินีนาถวิกตอเรีย และ สยามสมัย “ราชาธิปไตย” ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 สนธิสัญญานี้มีความสำคัญอย่างยิ่งและใช้บังคับอยู่เป็นเวลา ถึง 70 กว่าปี จนกระทั่งมีการแก้ไขค่อยๆยกเลิกไปในสมัยรัชกาลที่ 6 ภายหลังเมื่อสงครามโลกครั้ง ที่ 1 สิ้นสุดลงเมื่อปี 2461 (1918) แต่กว่าไทยจะมี “เอกราชสมบูรณ์” ก็ต่อเมื่อในปี 2482 (1938) ใน สมัย “รัฐธรรมนูญนิยม” ของรัฐบาลพลตรีหลวงพิบูลสงครามที่มีการแก้ไขและลงนามในสนธิสัญญา ใหม่กับโลกตะวันตก (และญี่ปุ่น) ทั้งหมด

แม้ว่าในปัจจุบันสนธิสัญญาเบาว์ริง จะกลายเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้วก็ตาม แต่หลักการว่าด้วย “การค้า เสรี” ที่ลงรากในสมัยนั้น ก็ยังคงเป็น “ระเบียบแบบแผน” ของเศรษฐกิจกระแสหลักของโลกอยู่ใน ปัจจุบันอยู่ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจสนธิสัญญาเบาว์ริงนี้ตามสมควร

พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชสมบัติในปี 2394 (1851) พร้อมด้วยการตั้งพระทัยอย่าง มุ่งมั่นว่า หากสยามจะดำรงความเป็นเอกราชอยู่ได้และพระองค์จะทรงมีฐานะเป็น “เอกกษัตราธิราชสยาม” ได้ ก็จะต้องทั้ง “เรียนรู้” และ “ลอกเลียน” รูปแบบจากชาติตะวันตก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาอำนาจอังกฤษ) จะต้องประนีประนอมประสานแบ่งปันผลประโยชน์กับฝรั่ง ทั้งนี้เพราะ 10 กว่าปีก่อนการขึ้นครองราชของพระองค์นั้น จีนซึ่งเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งเป็น “อาณาจักรศูนย์กลาง” ของโลกเอเชีย (และจีนก็ยังคิดว่าตนเป็น “ศูนย์กลาง” ของโลกทั้งหมด โปรดสังเกตชื่อประเทศและตัวหนังสือจีนที่ใช้สำหรับประเทศของตน) และก็ถูกบังคับด้วยแสนยานุภาพทางนาวีให้เปิดประเทศให้กับการค้า ของฝรั่ง ดังที่เป็นที่ทราบกันดีว่าจีนพ่ายแพ้อย่างย่อยยับใน “สงครามฝิ่น” ปี พ.ศ. 2383-85 (1840-42 ) ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3) ต้องยกเลิกระบบบรรณาการ “จิ้มก้อง” และเปิดการค้าเสรีกับเมืองท่าชาย ทะเลให้ฝรั่ง (ขายฝิ่นได้โดยเสรี) แถมยังต้องเสียเกาะฮ่องกงไปอีกด้วย

การล่มสลายของจีนต่อ “ฝรั่งอั้งม๊อ” (คนป่าคนเถื่อน) ครั้งนี้น่าจะส่งอิทธิพลต่อพระจอมเกล้าฯ อย่างมหาศาล ที่เห็นได้ชัดคือการส่งบรรณาการ “จิ้มก้อง” ที่ไทยไม่ว่าจะสมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ ก็ได้ส่งไปยังเมืองจีนเพื่อถวายกับจักรพรรดิจีนมาเป็นเวลากว่าครึ่ง สหัสวรรษ นั้นต้องสิ้นสุดลง

ดังนั้น พระจอมเกล้าฯ จึงทรงเป็นกษัตริย์ไทยองค์สุดท้ายที่ส่ง “บรรณาการ” หรือ “จิ้มก้อง” ครั้งสุดท้ายไปกรุง ปักกิ่งเมื่อปี 2396 (1853) หรือก่อนการลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริงเพียง 2 ปีเท่านั้นเอง ในรัชสมัย ของพระองค์ สยามก็หลุดออกจากวงจรแห่งอำนาจของจีน และก้าวเข้าสู่วงจรแห่งอำนาจของ อังกฤษด้วยการลงนามสนธิสัญญาเบาว์ริงดังกล่าวข้างต้น

แต่เรื่องของอำนาจทางการเมืองของตะวันตก ก็หาใช่เหตุผลสำคัญประการเดียว ในการที่พระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 จะทรงผูกมิตรอย่างมากกับฝรั่งไม่ ดูเหมือนว่าพระองค์จะทรงเชื่อว่า สยามใหม่ของพระองค์ น่าจะได้รับประโยชน์ ในการที่จะมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับชาติตะวันตก พร้อมๆกับการ เปลี่ยนแปลงเรื่องของรายได้ ภาษีอากรภายในประเทศด้วย พระองค์จึงพอพระทัยที่จะแสวงหาและพัฒนาความสัมพันธ์นั้น

ดังนั้น เซอร์ จอห์น เบาว์ริงก็โชคดีมาก ที่การเจรจาสนธิสัญญาใหม่ทำได้โดยง่ายกว่าบรรดาทูต หรือตัวแทนของอังกฤษที่มาก่อนหน้านั้น ที่ต้องเผชิญกับขุนนางและข้าราชสำนักสยามที่ไม่ เป็นมิตรนัก ซ้ำยังต้องเผชิญกับกษัตริย์ (พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3) ที่ไม่ทรงเห็นด้วยกับ การที่สยามจะต้องทำสนธิสัญญาที่เสียเปรียบฝรั่งในลักษณะดังกล่าว และที่สำคัญคือไม่ทรงเห็น ด้วยที่จะให้ฝรั่งเข้ามาค้าขาย “ฝิ่น” ได้อย่างเสรี ดังปรากฎอยู่ใน “ประกาศห้ามซื้อขายและสูบกิน ฝิ่น” ปี พ.ศ. 2382 (1839) ที่ออกมาบังคับใช้แบบไม่ค่อยจะเป็นผลนัก ก่อนหน้า “สงครามฝิ่น” เพียงปีเดียว

แม้ว่าเบาว์ริงจะมีปัญหาในการเจรจากับข้าราชสำนักบางท่าน (เช่นสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ และสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย หรือเจ้าพระยาพระคลัง) แต่ดูเหมือนพระจอมเกล้าฯ ก็ทรงอยู่ในปีกความคิดฝ่ายเดียวกับเบาว์ริงมาแต่เริ่มแรก ว่าไปแล้วในประเทศเช่นสยาม ที่พระเจ้าแผ่นดินทรงมีอำนาจเกือบจะสมบูรณ์นั้น ก็ถือว่าเป็นความได้เปรียบของเบาว์ริงอย่างยิ่ง

ในสมัยก่อนหน้าเบาว์ริงนั้นความสัมพันธ์ระหว่างสยามและอังกฤษ ถูกกำหนดไว้โดยสนธิสัญญา เบอร์นีปี 2369 (1826) และเบาว์ริงก็ใช้สนธิสัญญานี้เป็นจุดเริ่มต้นเจรจา ทั้งนี้โดยรักษามาตราเดิมๆ ที่ยังใช้ได้ไว้ บางมาตราก็เพียงแต่ให้นำมาบังคับใช้ให้เป็นผล และมีเพียงไม่กี่มาตราที่จะต้องทำการ แก้ไขใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่เบาว์ริงต้องการขจัดออกไปให้ได้จากข้อผูกมัดของสนธิสัญญา เบอร์นี คือ

1. ข้อความที่ให้คนในบังคับอังกฤษในสยาม ต้องขึ้นกับกระบวนการของกฎหมายสยาม

2. ข้อความที่ให้อำนาจข้าราชสำนักสยามห้ามพ่อค้าอังกฤษไม่ให้ปลูกสร้าง หรือว่าจ้าง หรือซื้อบ้านพักอาศัย ตลอดจนร้านค้าได้ในแผ่นดินสยาม

3. ข้อความที่ให้อำนาจต่อเจ้าเมืองในหัวเมือง ที่จะไม่อนุญาตให้พ่อค้าอังกฤษค้าขายในท้อง ที่ของตน

4. ข้อความที่กำหนดให้ฝิ่นเป็นสินค้า “ต้องห้าม” (แบบที่จักรพรรดิจีนและรัชกาลที่ 3 เคยห้าม หรือให้เฉพาะแต่เจ้าภาษีนายอาการผูกขาดไป)

5. ข้อความที่กำหนดว่าเรือของอังกฤษที่เข้ามายังเมืองท่าบางกอกนั้น จะต้องเสียค่าระวาง (ค่าธรรมเนียมปากเรือ) สูง และในมาตราเดียวกันของข้อความนี้ ยังมีการห้ามส่งออกข้าวสารและข้าวเปลือกรวมทั้งปลาและเกลืออีกด้วย

กล่าวโดยย่อ เซอร์ จอห์น เบาว์ริงมีวัตถุประสงค์ในการเจรจาสนธิสัญญาใหม่ ที่จะขจัดข้อจำกัดกีด ขวางเรื่องของการค้าทั้งหมด และก็ประสบความสำเร็จอย่างน่าอัศจรรย์ใจ แต่ก็กล่าวได้เช่นกันว่า ที่พระจอม เกล้าฯ รัชกาลที่ 4 ทรงยินยอมต่อข้อเรียกร้องทางผลประโยชน์ของฝรั่งตะวันตก ทั้งหมดนั้น กลายเป็น win-win situation ทั้งสองฝ่าย แม้ว่าบางเรื่องจะมาเกิดปัญหาอย่างหนักหน่วง และต้องเจรจาแก้ไขภายหลัง เช่น เรื่อง “คนในบังคับ” ของต่างชาติ หรืออีกนัยหนึ่ง คือ สิทธิสภาพ นอกอาณาเขต ฯลฯ

ข้อตกลงหลักๆในสนธิสัญญาเบาว์ริงที่ลงนามกันในปี 2398 (1855) ก็มีสาระสำคัญ ดังนี้

1. คนในบังคับอังกฤษ จะขึ้นกับอำนาจของศาลกงสุลอังกฤษ เกิดสิ่งที่เรียกว่า “สิทธิ สภาพนอกอาณาเขต” ขึ้นในสยามเป็นครั้งแรก ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาหนักของสยามใน สมัยต่อๆมา

2. คนในบังคับอังกฤษ มีสิทธิที่จะทำการค้าโดยเสรีตามเมืองท่าของสยาม (หัวเมืองชาย ทะเล)ทั้งหมด และสามารถพักอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ได้เป็นการถาวร คนในบังคับอังกฤษ สามารถซื้อหาหรือเช่าอสังหาริมทรัพย์ในปริมณฑลของกรุงเทพฯ คือ ในบริเวณ 4 ไมล์ หรือ 200 เส้นจากกำแพงพระนคร หรือ “ตั้งแต่กำแพงเมืองออกไป เดินด้วยกำลังเรือแจว เรือพายทาง 24 ชั่วโมง” ได้ อนึ่ง คนในบังคับอังกฤษได้รับอนุญาตให้เดินทางภายใน ประเทศได้อย่างเสรี โดยให้ถือใบผ่านแดนที่ได้รับจากกงสุลของตน

3. มาตรการต่างๆ ทางภาษีอากรเดิมให้ยกเลิก และกำหนดภาษีขาเข้าและขาออก ดังนี้

(ก) ภาษีขาเข้ากำหนดแน่นอนไว้ที่ร้อยละ 3 สำหรับสินค้าทุกประเภท ยกเว้นฝิ่น ซึ่งจะปลอดภาษี แต่จะต้องขายให้แก่เจ้าภาษีฝิ่นเท่านั้น ส่วน เงินแท่งก็จะปลอดภาษีเช่นกัน (ตรงนี้เบาว์ริงและอังกฤษได้ไปอย่างสม ประสงค์ ไม่ต้องทำ “สงครามฝิ่น” กับไทย แต่ทางฝ่ายไทย คือ เจ้าภาษีนาย อากรก็ได้ผลประโยชน์จากการค้าฝิ่น ที่ลักลอบทั้งซื้อ ทั้งสูบทั้งกิน ที่ทำมาตั้งแต่สมัยปลายรัชกาลที่ 3 แล้ว ในเวลาเดียวกันเจ้านายราชสำ นักไทยในรัชกาลใหม่ ตั้งแต่พระเจ้าแผ่นดินจนกระทั่งเจ้านายทรงกรมต่างๆ ก็ได้ผล ประโยชน์ จากเงินรายได้ภาษีฝิ่นนี้ เพราะมีการให้สัมปทานฝิ่น กับเจ้าภาษีนายอากรมาแล้วก่อนการลงนามสนธิสัญญาเบาว์ริงด้วยซ้ำไป

(ข) สินค้าขาออกจะถูกเก็บภาษีเพียงครั้งเดียว ไม่ว่าจะเป็นภาษีภายใน หรือผ่านแดน หรือส่งออกก็ตาม

4. พ่อค้าอังกฤษได้รับอนุญาตให้ซื้อและขายโดยตรงกับคนชาวสยาม ทั้งนี้โดยไม่มีการ แทรกแซงจากบุคคลที่สามแต่อย่างใด

5. รัฐบาลสยามสงวนสิทธิ์ที่จะห้ามการส่งออก ข้าว เกลือ และปลา หากเห็นว่าสินค้าดังกล่าว อาจจะขาดแคลนได้

6. กำหนดให้มีมาตราที่ว่าด้วย a most-favored nation ซึ่งหมายถึง “ถ้าฝ่ายไทยยอมให้สิ่งใดๆ แก่ชาติอื่นๆ นอกจากหนังสือสัญญานี้ ก็จะต้องยอมให้อังกฤษ แลคนในบังคับอังกฤษ เหมือนกัน”

สรุปแล้ว สนธิสัญญาเบาว์ริง มีสาระสำคัญอยู่ที่การกำหนดให้มี “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต” ให้มี “การค้าเสรี” และให้มีภาษีขาเข้าและขาออกในอัตราที่แน่นอน (3 %) แต่ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ก็คือ การที่ข้อกำหนด ต่างๆ ได้รับการเคารพและปฏิบัติตามโดยรัฐบาลสยามเป็นอย่างดี มิได้เป็นเพียงแต่ตัวหนังสือในตัวบทกฎข้อสัญญาเท่านั้น กล่าวได้ว่านี่ก็เนื่องจากความตั้งพระทัยแน่วแน่ของรัชกาลที่ 4 และขุนนางรุ่นใหม่ที่มีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ในฐานะกลาโหมเป็นผู้นำ ที่จะทำให้สนธิสัญญาเป็นผลอย่างแท้จริง เป็นผลประโยชน์ของราชสำนักและขุนนางร่วมกัน เป็น win-win situation ดังกล่าวข้างต้น และอาจจะมีเพียงมาตราที่เกี่ยวกับเรื่องการส่งออกข้าวเท่านั้น เอง ที่ดูจะคลุมเครือและขึ้นอยู่กับการตีความของราชสำนักเป็นสำคัญ แต่ก็หาได้เป็นการเสียผลประ โยชน์ของฝ่ายอังกฤษไม่

สนธิสัญญาเบาว์ริง ยังมีความหมายถึงการที่สยามต้องยอมเสีย “อำนาจอธิปไตย” บางประการ ซึ่งไม่เพียงแต่เรื่องของการมี “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต” ของคนในบังคับอังกฤษเท่านั้น แต่มีทั้ง เรื่องของภาษีขาเข้าร้อยละ 3 กับการกำหนดภาษีขาออก ที่ราชสำนักสยามต้องยอมปล่อยให้ภาษีศุล กากรนี้หลุดมือไป มีสินค้า 64 รายการทั้งที่สำคัญและไม่สำคัญถูกกำหนดไว้อย่างแน่นอนและ ละเอียดยิบไว้ในสนธิสัญญานี้ (เบาว์ริงเป็นนักการบัญชีด้วย พร้อมๆกับการที่ต้องเผชิญเจรจากับเจ้า พระยาพระคลัง (รวิวงศ์หรือทิพกรวงศ์) ที่ก็มีความละเอียดถี่ถ้วน เช่นกัน) และในจำนวนนี้มีถึง 51 รายการที่จะไม่ต้องเสียภาษีภายในประเทศเลย ส่วนอีก 13 รายการก็ไม่ต้องเสียภาษีขาออก ด้วยเช่นกัน

กล่าวได้ว่ารายได้สำคัญของสยาม(กษัตริย์ เจ้า และขุนนาง) ก็สูญหายไปเป็นจำนวนมากด้วยสน ธิสัญญาระหว่างประเทศฉบับนี้ และกล่าวได้ว่ารายได้สำคัญที่เข้ามาแทนที่ในตอนแรก คือ “ฝิ่น” การพะนัน ตลอดจนภาษีอบายมุขด้านอื่นๆ ฯลฯ และต่อมาจะชดเชยด้วยการผลิต “ข้าว” เพื่อส่งออกขนานใหญ่ ที่จะมาเห็นผลชัดเจน ในกลางรัชสมัยของ รัชกาลที่ 5

ดังนั้น แม้สนธิสัญญาเบาว์ริง จะทำให้การค้าและการผูกขาดของรัฐ หรือที่รู้จักกันในนามกิจการของ “พระคลัง สินค้า” ต้องสิ้นสุดลงก็ตาม แต่ราชสำนัก เจ้านาย ขุนนางสยาม ก็ผันตัวไปสู่รายได้จาก “การค้าเสรี” ในรูปแบบใหม่ และในขณะเดียวกันก็ยังคงรักษารูปแบบบางประการของการให้สัมปทานหรือการผูกขาดของเจ้าภาษีอากรแบบเดิมอยู่ (ฝิ่นและบ่อนเบี้ยการพะนัน)

การเจรจาสนธิสัญญาเบาว์ริง

เซอร์ จอห์น เบาว์ริง อยู่ในกรุงสยาม 1 เดือน และใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์เจรจากับ “ผู้สำเร็จราชการฝ่ายสยาม” 5 ท่านที่ได้ รับการแต่งตั้งโดย “กุศโลบายทางรัฐประศาสนศาสตร์” ของพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ

(1) พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท

(2) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาปยุรวงศ์ หรือ สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ ผู้มีอาญาสิทธิ์บังคับบัญชาได้สิทธิขาดทั่วทั้งพระราชอาณาจักร

(3) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ หรือสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย ผู้มีอำนาจบังคับบัญชาทั่วทั้งพระนคร

(4) เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) สมุหพระกระลาโหม บังคับบัญชาหัวเมืองชายทะเลปากใต้ฝ่ายตะวันตก

(5) เจ้าพระยารวิวงศ์ (ต่อมาเปลี่ยนเป็น “ทิพากรวงศ์” หรือ ขำ บุนนาค) พระคลัง และสำเร็จราชการกรมท่า บังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายตะวันออก

น่าสนใจที่ว่าทางฝ่ายสยามมีถึง 5 ท่าน (ตามปกติในแง่ของประเพณีโบราณ หากจะมีการแต่งตั้งทูต เป็นผู้แทน ก็มักจะมีเพียง 3 เท่านั้น) ซึ่ง ต่างก็ตระหนักดีว่านี่เป็นความเปลี่ยนแปลง อย่างใหญ่หลวง ใน 5 ท่านนี้ บุคคลที่มีอำนาจอย่างมากในยุคนั้น คือ สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ และ สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย ที่มีผลประโยชน์อยู่กับระบอบเดิมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 และมักถูกตั้งข้อสงสัยว่าขัดขวางการเจรจากับตัวแทนของอังกฤษและอเมริกามาก่อนหน้า ที่เบาว์ริงจะเข้ามา

แต่การที่พระจอมเกล้าฯ ทรงสามารถแต่งตั้งให้บุคคลทั้งสอง ต้องเข้าร่วมเป็นตัวแทนสยามเจรจา และต้องตกลงกับเบาว์ริงจนได้ ก็หมายถึงการที่ “ทรงเล่นเกม” ได้ถูก (“กุศโลบายทางรัฐประศาสน ศาสตร์”) หรือไม่ก็ทรงมีอำนาจอย่างสมบูรณ์ของพระองค์เอง น่าเชื่อว่าในด้านหนึ่งจากความ แก่ชราและโรคภัยที่เบียดเบียนอยู่ ก็ทำให้สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ (หัวหน้าตระกูลบุนนาค) ต้องคล้อยตามไปกับการเจรจาสนธิสัญญาครั้งนี้ ท่านสิ้นชีวิตไปในวันที่ 25 เมษายน 2398 (1855) หรือเพียง 7 วันหลังจากประทับตราในสนธิสัญญาร่วมกับเบาว์ริง

และก็น่า เชื่อว่าการค้าแบบใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ได้ทำให้ฝ่ายเจ้าและขุนนางเดิมต้องเสียประ โยชน์ไปมากมายแต่อย่างใด ที่สำคัญคือบุตรชายของท่าน คือ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ “สมุหพระกระลาโหม” ก็เห็นด้วย อย่างยิ่งกับความสัมพันธ์แบบใหม่นี้ และเป็นตัวจักรสำคัญในการบรรลุซึ่งการเจรจา

อนึ่ง สนธิสัญญาเบาว์ริงได้กลายเป็นแม่แบบของการที่ประเทศอื่นๆ ที่สำคัญๆ (ยกเว้นจีน ที่หมดอำนาจไปแล้วในศตวรรษนี้) ติดตาม เข้ามาทำสัญญาแบบเดียวกันอย่างรวดเร็ว มีทั้งหมด 14 ประเทศที่ทำสนธิสัญญากับสยามตามลำดับ

1856 สหรัฐอเมริกา

1856 ฝรั่งเศส

1858 เดนมาร์ค

1859 โปรตุเกศ

1860 เนเธอร์แลนด์

1862 เยอรมนี

1868 สวีเดน

1868 นอรเวย์

1868 เบลเยี่ยม

1868 อิตาลี

1869 ออสเตรีย-ฮังการี

1870 เสปน

1898 ญี่ปุ่น

1899 รัสเซีย

พระราชอาณาจักรและราษฎรสยาม -- หนังสือ 2 เล่มของเบาว์ริง

เมื่อประสบความสำเร็จในการทำสัญญากับสยามแล้ว เบาว์ริงกลับไปฮ่องกง และก็เขียนหนังสือขึ้นมาหนึ่งเรื่อง คือ The Kingdom and People of Siam ท่านเขียน “คำนำ” เสร็จเมื่อเดือนสิงหาคม 2399 (1856) ประมาณ 1 ปีครึ่งหลังจากกลับออกไปจากเมืองไทย และตีพิมพ์เป็นครั้งแรกที่กรุงลอนดอน เมื่อปี 2400 (1857) หรือสองปีภายหลังการลงนามสนธิสัญญา นับเป็นหนังสือสำคัญที่สุดเล่มหนึ่ง เกี่ยวกับสยามประเทศ หนังสือชุดนี้มี 2 เล่ม หนาถึงเกือบ 1 พันหน้า มีทั้งหมด 16 บทพร้อมทั้งภาคผนวก อีก 7 ตอนด้วยกัน

หนังสือชุดนี้ เต็มไปด้วยเรื่องราวต่างๆของสยาม ตั้งแต่เรื่องสภาพภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ประชากร ผลิตผลธรรมชาติ ประเทศราชของสยาม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไปจนถึง “บันทึกประจำวัน 1 เดือนเต็ม” ของเบาว์ริงเอง ที่จดไว้อย่างละเอียดตั้งแต่เรือมาถึงสันดอน ปากน้ำเจ้าพระยาเมื่อ 24 มีนาคม จนถึงวันลงนามสนธิสัญญา 18 เมษายน และออกเรือจากสยาม ไปเมื่อ 24 เมษายน รวมแล้ว 1 เดือนเต็ม

เซอร์จอห์น เบาว์ริง เป็นคนละเอียดละออ (รู้เรื่องระบบบัญชี) ดังนั้น จึงเก็บรายละเอียด ข้อมูลสยามมากมายเหลือจะคณานับ นอกเหนือจากเนื้อหาที่น่าสนใจแล้ว เบาร์ริงยังมีรูปประกอบ คับคั่งอีกด้วย ทั้งหมด 19 รายการ มีรูปงามๆ ของแม่น้ำเจ้าพระยา วัง วัด พระแก้วมรกต ช้างเผือก และพระฉายาทิศลักษณ์ ของ “พระเจ้ากรุงสยาม” รวมทั้ง “แผนที่สยามประเทศ” สมัยนั้น

ดังที่กล่าวแล้วว่า หนังสือชุดนี้พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1857 (พ.ศ. 2400) ที่กรุงลอนดอน และกลายเป็นหนังสือหายาก มีคนเล่นกันแบบเก็บ “ของเก่า” ทำให้ไม่สะดวกสำหรับการศึกษา ค้นคว้า แต่น่าดีใจที่ว่าในปี พ.ศ. 2512 (1969) สำนักพิมพ์อ๊อกซฟอร์ดได้นำมาตีพิมพ์ซ้ำ และให้ “ศ. เดวิต วัยอาจ” เขียนคำนำให้ แต่ในการพิมพ์ครั้งหลังนี้ได้ตัดบางอย่างที่สำคัญทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย นั่นคือพระราชลัญจกรตัวหนังสือขอมเขมร และจีนของพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงประทับตีตรา ไปใน “พระราชสาสน (จดหมาย)” ถึงเบาว์ริง

สำหรับตราตัวหนังสือจีนนั้นอาจจะเป็นตราเดียวกับที่ทรงประทับเวลาไป “จิ้มก้อง” กรุงปักกิ่ง ซึ่งมีการส่งเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2396 (1853) ก่อนหน้าการทำสัญญาเบาว์ริง 2 ปี และใช้พระปรมาภิไธยเป็นภาษาและตัวหนังสือจีนว่า “แต้ปิ๋ง” คือพระแซ่ “แต้” พระนาม “ปิ๋ง” ตามเสียงแต้จิ๋ว (หรือ “เจิ้ง” ในเสียงจีนกลาง) พระนามว่า “ปิ๋ง” หรือ “หมิง” แปลว่า “สว่าง”

นี่เป็นธรรมเนียมมาแต่สมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (ตากสิน) จนกระทั่งรัชกาลที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่กษัตริย์ทุกองค์จะส่ง “จิ้มก้อง” ไปเมืองจีนและใช้ “พระแซ่แต้” ในการติด ต่อกับกรุงปักกิ่ง สำหรับจักรพรรดิจีนที่พระจอมเกล้าฯ ทรงติดต่อด้วย คือ "พระเจ้าฮำฮอง" (Xianfeng 1851-1861) ซึ่งมีสนมเอกลือชื่อ "ซูสีไทเฮา" จีนกำลังอ่อนแอมาก และในที่สุดเมื่อสยาม คบฝรั่ง ไทยก็เลิกส่ง "จิ้มก้อง" แถมรัชกาลที่ 4 "ทรงสวด" ด้วยว่าถูกจีนหลอกมาหลายร้อยปี

เบาว์ริงได้เอกสารหลักฐานของไทยสมัยนั้นไปมากมาย ไม่ว่าสำเนาศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง (แถมพระจอมเกล้าฯ ทรงแปลเป็นภาษาอังกฤษให้เป็นตัวอย่างไป 1 บรรทัดด้วยว่า My father named Surindradity, my mother, Lady Suang, my elder brother…) เบาว์ริงได้ บทความประวัติศาสตร์สยาม ที่รัชกาลที่ 4 ทรงแต่งเองเป็นภาษาอังกฤษ ส่งไปตีพิมพ์มาก่อนแล้วที่เมืองจีน เบาว์ริงนำพระราชสาส์นส่วนพระองค์มารวมตีพิมพ์ไว้ด้วย เช่น ในบทที่ 2 (หน้า 65-66) ของเล่มแรก ที่รัชกาลที่ 4 ทรงเล่าไปว่า “ต้นตระกูล” ของพระองค์ท่านเป็น “มอญปนจีน” อย่างไร โยงกลับไปมอญหงสาวดี (พะโค) ที่อพยพมาในสมัยพระนเรศวร สืบลูกหลานมาสมัยโกษาปาน แล้วก็ไปตั้งหลักแหล่งที่ “สะแกกรัง” (อุทัยธานี) เมืองชายแดน โดยทรงกล่าวถึงพระปฐมบรมมหาชนกนาถ (บิดาของรัชกาลที่ 1) ไว้ว่า

“...ท่านผู้เป็นอภิชาตบุตร คนดังกล่าวได้ถือกำเนิดขึ้นที่นั่น และได้กลายเป็นผู้มีความชำนาญ และมีความรู้ความสามารถในทางราชการ ท่านได้ออกจาก ‘สะเกตรัง’ ไปยังอยุธยา ที่ซึ่งได้รับ คำแนะนำ ให้เข้ารับราชการ และได้สมรสกับธิดารูปงามของครอบครัวคหบดีจีน ที่ร่ำรวยที่สุด ในย่านที่อยู่อาศัยของชาวจีนภายในกำแพงเมือง ตรงมุมด้านตะวันออกเฉียงใต้ของอยุธยา...”

นี่เป็นข้อมูลที่มีเสน่ห์และน่าสนใจมากจากหนังสือสองเล่มของเบาว์ริง เราจะไม่พบข้อมูลเช่นนี้ ในเอกสารประวัติศาสตร์ของไทย ที่ให้ภาพ “ผู้นำใหม่” รุ่นหลังการเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2310 ที่ลงมาตั้งกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์นั้นเป็นมี “ความหลากหลาย” ทางชาติพันธุ์ เป็น “จีนปนไทย” อย่างในกรณีของพระเจ้ากรุงธนบุรี (ตากสิน) ที่มีบิดาเป็นจีนแต่มารดาเป็นไทย ในขณะที่พระพุทธยอดฟ้า (รัชกาลที่ 1) มีบิดาเป็นไทย (มอญ) แต่มารดาเป็นจีน

นอกเหนือจากเรื่องประวัติศาสตร์อันละเอียดอ่อน และหาไม่ได้ในฉบับภาษาไทยเองแล้ว ยังมีทั้งเรื่องกฎหมาย เรื่องการพิพากษาคดีความ เรื่องทาส เรื่องประเพณี อะไรต่อมิอะไร ที่เบาว์ริงนำเอาไปจากบางกอกหรือหารวบรวมได้เองในเมืองจีน (ฮ่องกงของท่านในสมัยนั้น มีทั้งนักปราชญ์ราชบัณฑิตฝรั่ง มิชชันนารี การตีพิมพ์ หนังสือพิมพ์และวารสาร อยู่คับคั่ง นับว่าเป็นโลกของ “ความรู้สมัยใหม่”) สิ่งเหล่านี้ เบาว์ริงทั้งรวบรวมทั้งให้ทำการแปล เป็นภาษาอังกฤษ แล้วก็ตีพิมพ์ไว้ในหนังสือ 2 เล่มของท่านอย่างละเอียด นี่ทำให้หนังสือของท่านน่าสนใจอย่างยิ่ง

เบาว์ริง “ตัด ต่อ และแปะ” กลายเป็นเสมือน “คู่มือประเทศสยาม” อย่างดี ผงาดขึ้นมาเคียงบ่าเคียงไหล่กับหนังสือคลาสิกอย่างของลาลูแบร์สมัยอยุธยา (Loubere, Simon de la, Du Royaume de Siam. Amsterdam, 1691, Description du Royaume de Siam, Amsterdam, 1700, 1713, ซึ่ง สันต์ ท. โกมลบุตร. แปลไว้ใน จดหมายเหตุลาลูแบร์ฉบับสมบูรณ์. กทม. สำนักพิมพ์ก้าวหน้า, 2510

หรืออีกเล่มหนึ่งของสังฆราชปัลเลอกัวซ์ (Bishop Pallegoix: Description du Royuame Thai ou Siam, 1852) ที่แปลเป็นไทยแล้ว คือ “เล่าเรื่องกรุงสยาม” ท่านสังฆราชใช้ทั้งชีวิตในกรุงสยาม แต่เบาว์ริงอยู่ในเมืองหลวงของเราเพียง 1 เดือนเท่านั้นเอง หนังสือของฝรั่งเศสทั้งสองเล่มนี้ เบาว์ริงใช้ทั้งอ้าง ทั้งอิง และทั้งยกข้อความมาใส่ไว้ในหนังสือใหม่ของท่านอย่างมากมาย

การแปลหนังสือของเบาว์ริงเป็นภาษาไทย (ฉบับสมบูรณ์)

หนังสือของเซอร์ จอห์น เบาว์ริง ที่แม้จะปรากฎในภาษาอังกฤษมาเกือบ 150 ปีแล้ว และมีการนำมาตีพิมพ์ซ้ำอีกดังกล่าวข้างต้น แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่าฉบับแปลที่ “สมบูรณ์” ในภาษาไทยหามีไม่ อาจจะเป็นเพราะความใหญ่โตหนาตั้งเกือบ 1000 หน้า อาจจะเป็นเพราะเป็นเรื่อง “ไทยๆ” ที่คนไทยเราเองมักจะมองข้ามไป กลายเป็น “ใกล้เกลือกินด่าง” ซึ่งทำให้ชาวต่างชาติจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะในวงการ “อุษาคเนย์ศึกษา” ดูจะรู้เรื่องของเราดีกว่าตัวเราด้วยซ้ำไป จะมีก็แต่เพียงข้าราชการกรมศิลปากรและอาจารย์น้อยท่านเท่านั้น ที่ให้ความสนใจและแปลบางบทออกมาเป็นครั้งคราว

ดังนั้น จากความสำคัญของหนังสือของเบาว์ริงทั้งสองเล่ม และเนื่องในโอกาสมหามงคล คือ ครบรอบ 200 ปีแห่งพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2547-2547 (2804-2004) นี้ ทำให้เราในนามของสองมูลนิธิ คือ มูลนิธิโตโยต้า ประเทศไทย ซึ่งมี ฯพณฯ พลตำรวจเอก เภา สารสิน เป็นประธาน และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ซึ่งมี ศ. เสน่ห์ จามริก เป็นประธาน ได้มีความเห็นร่วมกันว่าการเฉลิมฉลองที่ดีที่สุด คือ การจัดทำหนังสือดีๆสำหรับโอกาสดังกล่าว และนี่ก็เป็นที่มาของการดำเนินการให้มีการแปลเบาว์ริงให้สมบูรณ์ทั้งหมดเป็นครั้งแรก

ในเบื้องต้น เราได้สำรวจเอกสารที่แปลมาจากหนังสือของเบาว์ริงเพื่อดูว่ามีการแปลข้อความตอนใดเป็นภาษาไทยแล้ว พร้อมกับเสาะหาเอกสารต้นฉบับภาษาไทย เพื่อเปรียบเทียบกับต้นฉบับที่เบาว์ริงได้อ้างอิงถึง พบว่าข้อความในหนังสือของเบาว์ริงเล่มแรกคล้ายคลึงกับหนังสือของลาลูแบร์และสังฆราชปัลเลอกัวซ์ รวมทั้งหนังสือชุดประชุมพงศาวดาร เช่น ภาคที่ 32 อธิบายเรื่องเบื้องต้นที่ไทยจะเป็นไมตรีกับฝรั่งเศส ภาคที่ 39 เรื่องจดหมายเหตุของพวกบาทหลวงฝรั่งเศสฯ ตอนแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศ ครั้งกรุงธนบุรีและครั้งกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นต้น หากพิจารณาอย่างผิวเผินจะคิดว่าข้อความในหนังสือเล่ม 1 ไม่มีสิ่งแปลกใหม่ จึงไม่พบว่ามีผู้ใดแปลข้อความจากเล่มนี้ สิ่งที่เห็นว่าเผยแพร่กันมากกลับเป็นพระบรมสาทิศลักษณ์ที่ปรากฏอยู่ในตอนต้นของหนังสือ

ข้อความในหนังสือเบาว์ริงที่มีการแปลเป็นภาษาไทยเผยแพร่อย่างมากหลายมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ บทที่ 16 Personal Journal of Sir John Bowring’s Visit to Siam อันเป็นตอนสำคัญที่นายเพ่ง พ.ป. บุนนาค ได้แปลเป็นหนังสือเรื่อง “เซอร์ยอนโบว์ริงเข้ามาเมืองไทย” เมื่อ พ.ศ. 2456 และมีการตีพิมพ์อีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2509 ต่อมา ประยุทธ สิทธิพันธ์ ได้คัดมาเป็นบทหนึ่งในหนังสือเรื่อง “สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม (เล่มปลาย)” (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สยาม, 2515) เพื่อให้เรื่องราวนั้นแพร่หลายยิ่งขึ้น สำนวนแปลเป็นสำนวนโบราณตามยุคสมัย อย่างไรก็ตาม กรมศิลปากรได้มอบหมายให้นางนันทนา ตันติเวสส ซึ่งขณะนั้นเป็นนักอักษรศาสตร์ 5 ฝ่ายแปลและเรียบเรียง กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ แปลข้อความตอนนี้ใหม่เป็นสำนวนปัจจุบัน โดยมีเรื่อง Sir John Bowring’s Mission 1855 อันเป็นหัวข้อสุดท้ายในบทที่ 15 Diplomatic and Commercial Relations of Western Nations with Siam มาเป็นบทนำของหนังสือ “บันทึกรายวันของเซอร์ จอห์น เบาริง” เผยแพร่เมื่อ 2532

กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากรเป็นหน่วยงานที่จัดแบ่งเนื้อหาในหนังสือเบาว์ริง เล่ม 2 จัดแปลออกเป็นตอนๆ ให้สอดคล้องกับความเข้าใจเรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทย โดยมีนันทนา ตันติเวสส เป็นผู้แปล และตีพิมพ์เผยแพร่ในช่วงปี พ.ศ. 2527-2535 เริ่มต้นจากส่วนที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา ดังนี้

2527 ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสยามกับต่างประเทศในสมัยอยุธยา แปลและเรียบเรียงจากบางตอนในบทที่ 15 Diplomatic and Commercial Relations of Western Nations with Siam (คือ ตอนที่ 1-4 คณะทูตของโปรตุเกส ดัตช์ ฝรั่งเศสและสเปน) ของเซอร์ จอห์น เบาว์ริง กับ "Seventeenth Century Japanese Documents about Siam" ของยูเนโอะ อิชิอิ (Yoneo Ishii, Journal of the Siam Society, 59:2, July 1971)

2528 เมืองประเทศราชของสยามในสมัยรัตนโกสินทร์ แปลและเรียบเรียงจาก บทที่ 14 Dependencies upon Siam ของเซอร์ จอห์น เบาว์ริง และ Kedah-Siam Relations 1821-1905 ของชารอม อาหมัด

2532 รวมเรื่องแปลหนังสือและเอกสารทางประวัติศาสตร์ ชุดที่ 1 “คณะทูตมิสเตอร์ครอว์เฟิด พ.ศ. 2365 (ค.ศ. 1822)” หน้า 1-56. แปลจากบางส่วนใน บทที่ 15 คือ ตอนที่ 5 คณะทูตของอังกฤษ

2532 บันทึกรายวันของ เซอร์ จอห์น เบาว์ริง แปลและเรียบเรียง จากบางตอนในบทที่ 15 คือ ตอนที่ 7 คณะทูตของเซอร์จอห์น เบาว์ริง และบทที่ 16 บันทึกส่วนตัวของเซอร์จอห์น เบาว์ริง

2535 รวมเรื่องแปลหนังสือและเอกสารทางประวัติศาสตร์ ชุดที่ 2. “ประวัติของคอนสแตนติน ฟอลคอน” หน้า 57-96 แปลจาก ภาคผนวก E History of Constance Phaulcon

ส่วนสำคัญในหนังสือของเบาว์ริงที่ไม่ใคร่มีผู้กล่าวถึง คือ ข้อมูลที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเตรียมไว้ให้เบาว์ริง เป็นการนำเสนอทั้งเรื่องราวของประเทศสยามและพระราชวงศ์ วินัย พงศ์ศรีเพียร แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร จึงได้นำพระราชนิพนธ์อันเป็นข้อสังเกตโดยสังเขปเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สยาม ที่เป็นภาคผนวก A ของหนังสือมาแปลเป็น “พงศาวดารสยามอย่างย่อ” ในหนังสือเรื่อง ความยอกย้อนของอดีต : พิพิธนิพนธ์เชิดชูเกียรติ พลตรี หม่อมราชวงศ์ศุภวัฒน์ เกษมศรี (กรุงเทพฯ พฤศจิกายน 2537, หน้า 71-106) เพื่อให้คนไทยได้ทราบบทพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยที่มีรายละเอียดบางประการต่างไปจากสิ่งที่คุ้นเคยกันมา และนับจาก พ.ศ. 2537 เป็นต้นมา ก็ไม่มีผู้ใดแปลข้อความในหนังสือชุดนี้อีก

สำหรับภาคผนวกอื่นๆ นั้น บางชิ้นเป็นเอกสารที่มีต้นฉบับเป็นทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ บางชิ้นเป็นภาษาอังกฤษ มีเพียงเรื่องของฟอลคอนเท่านั้นที่เบาว์ริงแปลมาจากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส สำหรับเอกสารต้นฉบับที่มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ คือ ประกาศเรื่องฝิ่นในรัชกาลที่ 3 กับ อาการประชวรและสวรรคตของพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดีนั้น เราได้พยายามหาต้นฉบับเอกสารภาษาไทยมาศึกษา เพื่อรักษาสำนวนการเขียนแบบโบราณให้คงไว้ให้ได้มากที่สุด

เบาว์ริงเป็นทั้งนักเขียนและนักภาษา ผลงานของเขาจึงเต็มไปด้วยการอ้างอิงถึงผลงานของผู้อื่นและคำศัพท์หลากภาษาเป็นจำนวนมาก ยากที่จะหาผู้แปลเพียงคนเดียวแปลผลงานของเบาว์ริงได้อย่างครบถ้วนในอัตราความเร็วเดียวกับที่เบาว์ริงเขียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องเกี่ยวกับไทยๆ ที่ดูว่าน่าจะง่าย แต่กลับเป็นสิ่งที่ยากอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะเบาว์ริงแปลเรื่องราวของไทยมาจากเอกสารภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศสและละติน การแปลกลับไปกลับมาทำให้มีบางสิ่งคลาดเคลื่อนไปจากต้นฉบับภาษาไทย เพราะได้ผ่านการตีความไปเป็นภาษาอื่นโดยคนต่างวัฒนธรรมไปแล้ว หากใช้คำศัพท์หรือสำนวนแบบไทยๆ แทนที่ข้อเขียนของเบาว์ริง โดยไม่แปลก็จะทำให้เสีย “ความ” ดังที่เบาว์ริงเข้าใจ

ดังนั้น การตั้งใจแปลความโดยใช้ถ้อยคำและสำนวนแบบไทย จึงอาจเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมในบางตอน และเป็นอุปสรรคสำคัญประการหนึ่งในการแปล เพราะจำเป็นต้องทบทวนเรื่องการใช้ถ้อยคำหลายครั้ง จากที่เคยตั้งใจว่าจะแปลให้คนไทยอ่านโดยใช้คำที่คนไทยคุ้นเคย ก็ทำไม่ได้เพราะเป็นคำที่ไม่ตรงกับการใช้ของเบาว์ริง ทั้งยังแฝงนัยที่ดูถูกเหยียดหยามผู้อื่นเอาไว้ด้วย เช่น คำว่า Cochin Chine กับ Cambodia ที่ในเอกสารพงศาวดารของไทยเรียกว่า ญวน กับ เขมร เป็นต้น

คำศัพท์ภาษาต่างๆ ที่แสดงให้เห็นความสามารถทางด้านภาษาของผู้เขียนก็เป็นปัญหาสำคัญอีกเช่นกัน เพราะผู้แปลไม่มีความรอบรู้มากพอที่จะเข้าใจทุกอย่างได้ แม้เป็นคำเล็กน้อยเพียงไม่กี่คำ ก็ทำให้ต้องวิ่งรบกวนบรรดานักวิชาการผู้มีความรู้ความชำนาญเฉพาะทางจำนวนมาก ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษามอญ ภาษาจีน ภาษาโปรตุเกส ภาษาดัตช์และภาษาละติน เพราะปัญหาเรื่องคำศัพท์มิได้ยุติเพียงว่า คำศัพท์นั้นแปลว่าอะไรเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความรู้ความเข้าใจเรื่องประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ปรากฏเป็นส่วนหนึ่งของคำศัพท์นั้นด้วย ความยากและซับซ้อนเช่นนี้ประกอบกับเวลาที่จำกัด ทำให้ผู้แปลจัดทำเชิงอรรถอธิบายความได้เพียงเท่าที่จำเป็น ปล่อยข้อสงสัยหลายตอนไว้ให้เป็นการบ้านของผู้อ่านที่จะได้ค้นหาความกระจ่างด้วยตนเอง

ปัญหาอีกประการหนึ่งของผู้แปลเกิดจากการอธิบายความและอ้างอิงของผู้เขียน ที่ได้รีบทำงานชิ้นนี้อย่างเร่งด่วน จึงมิได้เคร่งครัดกับการอ้างอิงเหมือนบรรดานักวิชาการในปัจจุบันที่มีระบบการอ้างอิงอย่างชัดเจนเพียงระบบเดียว แม้จะเห็นได้ชัดว่าเบาว์ริงใช้เชิงอรรถ ทั้งอ้างอิงและอธิบายความ แต่นั่นก็เป็นส่วนน้อย หากแต่มีการอ้างอิงในเนื้อความเป็นอันมาก โดยเบาว์ริงระบุที่มาของข้อมูลไว้ในวงเล็บด้านท้ายของย่อหน้า และบางคราวก็อธิบายแทรกไปในเนื้อความโดยใช้เครื่องหมายวงเล็บในกรณีที่เขาเขียนข้อความนั้นเอง แต่ต้องการให้ผู้อ่านชาวตะวันตกเข้าใจ บางครั้งเขียนอธิบายในวงเล็บสี่เหลี่ยมเพราะเป็นการอ้างอิงในผลงานของคนอื่น บางครั้งใช้ทั้งตัวเอนและวงเล็บเพื่ออธิบายความ ทำให้ผู้แปลที่จำเป็นต้องแทรกความในเนื้อเรื่องบ้างจำเป็นต้องใช้เครื่องหมายวงเล็บปีกกาแทนการใช้การอธิบายและเขียนว่า ผู้แปล ไว้ในวงเล็บ เพื่อมิให้ดูรกรุงรังจนเกินไป

การแปลงานชิ้นนี้ให้สำเร็จทันเวลาที่จะเฉลิมฉลองวาระสำคัญ 2 วาระในเวลาเดียวกัน คือ 200 ปี พระจอมเกล้าฯ (18 ตุลาคม 2004) กับ 150 ปีสนธิสัญญาเบาว์ริง (18 เมษายน 2005) จึงต้องบังคับและขอร้องให้หลายท่านมาช่วยกันแปลงานที่ยังไม่เคยมีการแปลมาก่อน ในขณะเดียวกัน ก็ติดต่อขออนุญาตทำผลงานที่แปลแล้วมาพิมพ์รวมไว้ด้วยกันโดยไม่มีการแปลใหม่ แต่ขอปรับรูปแบบให้เหมือนกันทั้งสองเล่ม

กล่าวโดยสรุปว่า หนังสือเล่มที่ 1 เป็นการแปลใหม่ทั้งเล่มโดยผู้แปล 3 คน คือ อนันต์ ศรีอุดม, กัณฐิกา ศรีอุดม และพีรศรี โพวาทอง ส่วนหนังสือเล่มที่ 2 นั้น เป็นการรวมผลงานที่ได้มีการเผยแพร่มาแล้ว ของนันทนา ตันติเวสส สำหรับภาคผนวกนั้น มีทั้งการรวบรวมงานแปลที่ได้พิมพ์เผยแพร่แล้ว ของวินัย พงศ์ศรีเพียร การรวบรวมเอกสารโบราณและการแปลใหม่ โดยกัณฐิกา ศรีอุดม, ศศิพันธ์ ตรงยางกูร และคมคาย อิทธิถาวร

เราหวังว่าการเฉลิมฉลองทางด้านวิชาการในโอกาส 200 ปีของพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2347-2547 (1804-2004) งานนี้จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยของเราโดยรวม และขอขอบคุณท่านทั้งหลายที่ร่วมกันทำให้งานนี้สำเร็จลุล่วงลงไปได้ ไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิฯ ทั้งสอง ที่เอ่ยนามมาแล้ว และบริษัทโตโยต้า ประเทศไทย ตลอดจนนักวิชาการ ผู้แปล และผู้ร่วมงานจำนวนมาก อาทิ

อธิบดีกรมศิลปากร ผู้อนุญาตให้นำผลงานแปลมารวมพิมพ์ นันทนา ตันติเวสส, วินัย พงศ์ศรีเพียร,อนันต์ ศรีอุดม, พีรศรี โพวาทอง, ศศิพันธุ์ ตรงยางกูร, คมคาย อิทธิถาวร, ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, ทรงยศ แววหงษ์, ธีรวัติ ณ ป้อมเพชร, สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ท่านผู้หญิงวรุณยุพา สนิทวงศ์ฯ, วรพร ภู่พงศ์พันธุ์ ตลอดจนมิตรสหายในวงวิชาการต่างประเทศ อาจารย์ Geoff Wade, Maureen and Michael Aung Thwin, Benedict Anderson, Kyaw Yin Hlaing, Nai Sunthorn ปรีชา โพธิ และทีมงานของโตโยต้ากับ “ดรีมแคชเชอร์” ที่ทำให้เบาว์ริงปรากฏขึ้นมาเป็นจริงอีกครั้งหนึ่งของ “อดีต” ของสังคมไทย

9 Comments:

  • ยอดไปเลย 

    Posted by 1234

    By Anonymous Anonymous, At 9/01/2006 04:33:00 PM  

  • Supper great 

    Posted by jORJOR

    By Anonymous Anonymous, At 9/09/2006 10:48:00 PM  

  • ว้าว สุดยอด 

    Posted by เด็กน้อย

    By Anonymous Anonymous, At 11/07/2006 11:43:00 AM  

  • ว้าว สุดยอด 

    Posted by เด็กน้อย

    By Anonymous Anonymous, At 11/07/2006 11:45:00 AM  

  • โห 

    Posted by Za boy

    By Anonymous Anonymous, At 1/04/2007 06:09:00 PM  

  • 555 

    Posted by เนม

    By Anonymous Anonymous, At 1/17/2007 06:23:00 PM  

  • สนธิสัญญาเบาวริ่งส่งผลกระทบต่อไทยมากจริงๆนะครับเนี่ย 

    Posted by อาร์ตน้อยกลอยใจ

    By Anonymous Anonymous, At 2/28/2007 10:54:00 PM  

  • เลวจริงๆ

    By Anonymous Anonymous, At 7/28/2007 11:38:00 PM  

  • ขอคิดหนักหน่อยนะ ขอคิดมากนิดนึง
    การทำภาระเรียนหนักเดี๋ยวนี้ว่ายากกว่ากำหนดอาจทนไม่ไหวนะค่ะพี่ชายที่รัก ไม่น่ามหัศจรรย์เลยที่ได้รู้จักความรับผิดชอบคุณน่ะ

    By Anonymous Anonymous, At 4/25/2009 07:41:00 PM  

Post a Comment

Subscribe to Post Comments [Atom]



<< Home